สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพังงา
647/1 ตำบลท้ายช้าง อำเภอเมือง จังหวัดพังงา 82000
โทรศัพท์ : 076-481-743 Email : pg_ops@moc.go.th
บรรยายสรุปจังหวัดพังงา
---------------------------
ข้อมูลทั่วไปจังหวัดพังงา
1.1. ข้อมูลสภาพทั่วไป
1.1.1. ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และทรัพยากรธรรมชาติ
1.) ภูมิประเทศ
ก. ที่ตั้งและอาณาเขต
- ที่ตั้ง จังหวัดพังงา ตั้งอยู่ระหว่างเส้นละติจูดที่ 8 องศา 27 ลิปดา 52.3 ฟิลิปดาเหนือและเส้นลองติจูดที่ 98 องศา 32 ลิปดาตะวันออก ห่างจากกรุงเทพมหานคร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 4 ไปทางทิศใต้ แยกจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีเข้าอำเภอทับปุด จังหวัดพังงา ตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 415 เป็นระยะทางประมาณ 788 กิโลเมตร
- อาณาเขต มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้
ทิศเหนือ | ติดกับจังหวัดระนอง |
ทิศตะวันออก | ติดกับจังหวัดสุราษฎร์ธานีและกระบี่ |
ทิศใต้ | ติดกับจังหวัดภูเก็ตเชื่อมกันโดยสะพานสารสิน และสะพานเทพกษัตรี |
ทิศตะวันตก | ติดกับทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย |
จังหวัดพังงา มีพื้นที่ทั้งหมด 4,170.897 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2,606,810.625 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.8 ของเนื้อที่ประเทศไทย และร้อยละ 5.9 ของเนื้อที่ภาคใต้ ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของประเทศไทย (ฝั่งอันดามัน) โดยมีชายฝั่งทะเลยาว 239.25 กิโลเมตร ตลอดแนวด้านตะวันตกของจังหวัดตั้งแต่ตอนบนมาถึงตอนล่างในอ่าวพังงา
ข. สภาพภูมิประเทศ
จังหวัดพังงามีรูปร่างทางภูมิศาสตร์เป็นรูปยาวรี ในตำแหน่งทิศเหนือ-ใต้ มีความยาวประมาณ 112.5 กิโลเมตร และมีส่วนกว้างในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ในบริเวณตอนบนของจังหวัด ประมาณ 25 กิโลเมตร ส่วนบริเวณตอนล่างของจังหวัดกว้างประมาณ 50 กิโลเมตร ภูมิประเทศของจังหวัดพังงา โดยทั่วไปประกอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อน ที่สูง พื้นที่ราบ และบริเวณที่เป็นเกาะ ซึ่งสามารถจำแนกลักษณะภูมิประเทศในจังหวัด ได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
(1.) บริเวณภูเขาและที่สูง
ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัด โดยทอดตัวตลอดแนวจากเหนือมาใต้ เทือกเขาที่สำคัญ คือ เทือกเขาภูเก็ต ซึ่งเป็นเทือกเขาที่ต่อเนื่องมาจากเทือกเขาตะนาวศรี ผ่านจังหวัดต่างๆ ทางฝั่งตะวันตกของภาคใต้ ความยาวโดยเฉลี่ย 517 กิโลเมตร
(2.) บริเวณที่ราบ
พื้นที่ราบของจังหวัดพังงามีน้อย ส่วนใหญ่เป็นที่ราบชายฝั่งทะเลที่เกิดจากการยุบตัวของแผ่นดินชายฝั่งทะเล มีลักษณะแคบยาว และเว้าแหว่งที่เรียกว่า ชะวากทะเล ชายหาดส่วนใหญ่จึงเป็นหาดชายเลน โดยเป็นป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ มีความสำคัญต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง
(3.) บริเวณที่เป็นเกาะ
จังหวัดพังงามีเกาะแก่งมากมาย ประมาณ 105 เกาะ (ซึ่งรวมถึงแนวประการังทั้งบริเวณชายฝั่ง และตามหมู่เกาะต่างๆ หลายแนว) ส่วนใหญ่จะอยู่ตอนเหนือของจังหวัดในเขตอำเภอตะกั่วป่า และคุระบุรี สำหรับในอ่าวพังงามีเกาะสำคัญซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอ คือ อำเภอเกาะยาว เกาะต่างๆ ของจังหวัดพังงา ส่วนใหญ่มีธรรมชาติที่สวยงามแต่ไม่มีประชาชนอยู่อาศัย จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด
2 สรุปข้อมูลพื้นฐานของจังหวัด
2.) ภูมิอากาศ
ภูมิอากาศของจังหวัดพังงาเป็นแบบมรสุมเมืองร้อน อยู่ใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ภูมิอากาศในจังหวัด มี 2 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูฝน และ ฤดูร้อน
2.1) ฤดูฝน อยู่ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม–ธันวาคม โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดผ่านมหาสมุทรอินเดียเข้าสู่ภาคใต้ เนื่องจากเป็นลมที่พัดผ่านทะเล ซึ่งเป็นมวลอากาศที่มีความชื้นสูง เมื่อปะทะแนวภูเขาทางฝั่งตะวันตก ทำให้เกิดฝนตกชุกตลอดปี ในปี 2559 จังหวัดพังงามีจำนวนวันที่ฝนตกทั้งสิ้น 183 วัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 5.78 ในขณะที่ปริมาณน้ำฝนมีทั้งสิ้น 2,850 ม.ม. เดือนที่มีฝนตกมากที่สุดคือเดือนกันยายน
2.2) ฤดูร้อน อยู่ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม–เมษายน โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพัดผ่านอ่าวไทยเข้าสู่ฝั่งตะวันตกทำให้มีฝนตกน้อยมาก เดือนที่มีอากาศร้อยที่สุดคือเดือนมีนาคม
3.) ทรัพยากรธรรมชาติ
จังหวัดพังงาเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และหลากหลายประเภท ในภาคใต้ อาทิ แร่ธาตุ ป่าไม้ ตลอดจนความสวยงามของทรัพยากรทางธรรมชาติ จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ
3.1.) แร่ธาตุ
แหล่งแร่ที่พบปรากฏในหลายพื้นที่ทั้งบริเวณภูเขา ที่ราบ และในทะเล แร่ที่มีการสำรวจพบมีหลายชนิด ได้แก่ แร่ดีบุก (Tin) แร่โมนาไซด์ (Monazite) แร่โคลัมไบต์ (Columbite) แร่เซอร์คอน (Zircon) และธาตุยูเรเนียม (Uranium) แต่แร่ที่ทำรายได้กับจังหวัดมากในอดีต คือ แร่ดีบุก อย่างไรก็ตาม
ในปัจจุบันกิจการเหมืองแร่ดีบุกได้ลดลงจากเดิมเป็นอันมาก เนื่องจากวิกฤตการณ์ราคาแร่ดีบุกในตลาดโลกตกต่ำ นับตั้งแต่ปี 2528 เป็นต้นมา จนยากที่จะฟื้นตัวขึ้นมาได้อีกสำหรับแหล่งแร่ในพื้นที่อำเภอต่างๆ มีดังนี้ อำเภอเมือง ได้แก่ แร่หินปูนและหินทราย อำเภอตะกั่วทุ่ง ได้แก่ แร่หินแกรนิต อำเภอทับปุด ได้แก่ แร่โดโลไมต์
3.2.) ป่าไม้
ทรัพยากรป่าไม้ของจังหวัดพังงามีความอุดมสมบูรณ์มากจังหวัดหนึ่ง โดยมีเนื้อที่ป่ารวมทั้งสิ้น 1,083,257.48 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 41.55 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด จำแนกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
ป่าบก พื้นที่ส่วนใหญ่ที่เป็นป่าดงดิบ ประกอบด้วย ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา และป่าไผ่ ที่มีสภาพป่าแน่นทึบมีเรือนยอดชิดกัน สภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์ ประกอบด้วย พันธุ์ไม้มีค่านานาชนิด เช่น ไม้ยางยูง ตะเคียน หลุมพอ นาคบุตร ตาเสือ เป็นต้น พื้นที่ป่าดงดิบ มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 808,856.34 ไร่ หรือร้อยละ 23.55 ของพื้นที่จังหวัด
ป่าชายเลน จังหวัดพังงาเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าชายเลนมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดต่างๆ ด้านฝั่งทะเลอันดามัน อีกทั้งยังมีความสมบูรณ์สูงกว่าจังหวัดอื่นๆ กล่าวคือ ร้อยละ 90 ของพื้นที่ป่าชายเลนของจังหวัดพังงามีต้นไม้ขึ้นอยู่หนาแน่น และมีความสมบูรณ์ของเรือนยอดร้อยละ 70-100 ประกอบด้วย พันธุ์ไม้มีค่าหลายชนิด เช่น ไม้โกงกางใบเล็ก ไม้โกงกางใบใหญ่ ถั่วขาว ถั่วดำ ตะบูน และพังกาหัวสุม พื้นที่ป่าชายเลนนี้มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 274,401.14 ไร่ หรือร้อยละ 7.99 ของพื้นที่จังหวัด
3.3) ดิน
ลักษณะดินของจังหวัดพังงา สามารถแบ่งเป็นกลุ่มดินได้ 4 กลุ่ม คือ
(1.) กลุ่มดินเค็มบริเวณที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล เป็นดินที่มีสภาพความเป็นกรดปานกลาง มีลักษณะเป็นดินทราย และดินร่วนปนทราย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 0.443 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 17 ของพื้นที่ทั้งหมด สรุปข้อมูลพื้นฐานของจังหวัด 3
(2.) กลุ่มดินบริเวณพื้นที่ราบและบริเวณพื้นที่ใกล้เนินเขา มีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย ครอบคลุมพื้นที่ 0.104 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 4 ของพื้นที่ทั้งหมด
(3.) กลุ่มดินบริเวณเชิงเขาที่ดอน มีลักษณะเป็นดินร่วนปนทรายและเศษหินปูนครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 0.860 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 33 ของพื้นที่ทั้งหมด
(4.) กลุ่มดินภูเขา เป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง มีลักษณะเป็นหินปูนและเศษหินปูน ไม่เหมาะต่อการเกษตรกรรม ส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณพื้นที่เขตอนุรักษ์ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1.2 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของพื้นที่ทั้งหมด
3.4) แหล่งน้ำ
จังหวัดพังงา มีแม่น้ำ ห้วย ลำธาร คลอง 357 สาย ซึ่งในจำนวนนี้มีที่ใช้งานได้ช่วงฤดูแล้ง 337 สาย มีแหล่งน้ำที่ได้รับการปรับปรุงฟื้นฟูแล้ว 180 แห่ง แหล่งน้ำที่ใช้เป็นแหล่งน้ำดิบเพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตรที่สำคัญของจังหวัดพังงา ในปัจจุบันประกอบด้วยลำน้ำ 6 สาย ได้แก่ คลองพังงา คลองตะกั่วป่า คลองนางย่อน คลองนาเตย คลองถ้ำ คลองลำไทรมาศ ซึ่งแม่น้ำลำคลองของจังหวัดพังงามีต้นกำเนิดจากภูเขาสูงทางทิศตะวันออกแล้วไหลลงสู่ทะเลอันดามัน โดยทั่วไปเป็นแม่น้ำสายสั้นและไหลเร็ว เนื่องจากพื้นที่มีระดับความลาดชันสูงแม่น้ำที่สำคัญมี 2 สาย ซึ่งไม่สามารถใช้เป็นเส้นทางคมนาคมได้แล้วคือ
(1) แม่น้ำพังงา เกิดจากภูเขากระทะคว่ำในเขตอำเภอกะปง ไหลมาบรรจบกับคลองหราและไหลออกสู่ทะเลที่อ่าวพังงา มีความยาวประมาณ 30 กิโลเมตร
(2) แม่น้ำตะกั่วป่า เกิดจากทิวเขาในเขตอำเภอกะปง ไหลผ่านตำบลตำตัว ตำบลบางไทร ตำบลโคกเคียน และตำบลบางนายสี ในเขตอำเภอตะกั่วป่า ก่อนไหลสู่ทะเลอันดามัน มีความยาวประมาณ 20 กิโลเมตร
นอกจากนี้ ยังมีลำน้ำสายสั้นๆ อีกหลายสาย เช่น คลองหรา คลองเหล คลองรมณีย์ คลองถ้ำ คลองบางทอง คลองไตรมาศ และคลองบ่อแสน เป็นต้น
3.5) ภูเขาและเทือกเขาที่สำคัญ
ภูเขาส่วนใหญ่ในจังหวัดมีลักษณะเป็นเทือกเขาที่สลับซับซ้อน ทอดตัวตามแนว เหนือ-ใต้ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัด เทือกเขาที่สำคัญคือ เทือกเขาภูเก็ตซึ่งเป็นเทือกเขาที่ต่อเนื่องมาจากเทือกเขาตะนาวศรี มีความสูงโดยเฉลี่ย 200-1,050 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง